|
EXIM เสริมสภาพ คล่อง กว่า 10,000 ล้าน
EXIM BANK เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการไทย วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก มาตรการระยะสั้น วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินสูงสุด 365 วัน
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาคการส่งออกไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดจนสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้อิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อผู้ประกอบการไทย อาทิ การลดลงของคำสั่งซื้อ การล่าช้าในการส่งมอบสินค้า และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
ในการบรรเทาผลกระทบและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง EXIM BANK ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยครอบคลุมการเติมทุน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดต้นทุนทางการเงิน ด้วยกรอบวงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
มาตรการระยะสั้น วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินสูงสุด 365 วัน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสูงสุด 20% จากอัตราเดิม
มาตรการระยะกลางและระยะยาว วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท จะประกาศใช้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
วงเงิน 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม ด้วยสินเชื่อเพื่อการร่วมงานแสดงสินค้า โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสินเชื่อเพื่อการส่งออก อัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมความคุ้มครองความเสี่ยงกรณีผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี (Prime Rate -2.16% ต่อปี) พิเศษสำหรับผู้ถือกรมธรรม์ประกันการส่งออกกับ EXIM BANK ยกเว้นค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อสูงสุด 5 รายต่อกรมธรรม์
วงเงิน 1,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% ต่อปีใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 3-10 ปี
วงเงิน 3,000 ล้านบาท สนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถรักษาการจ้างงานได้ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.00% ต่อปีคงที่ 3 ปี
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs) ของ EXIM BANK ในปัจจุบันเท่ากับ 6.15% ต่อปี
นอกจากนี้ EXIM Export Clinic ที่ EXIM BANK ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ ดำเนินการติดต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้คำปรึกษาและนำเสนอมาตรการระยะสั้นไปแล้ว และพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกที่ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ สาขาทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ และสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ 4 แห่งใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง
EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือ เยียวยา และส่งเสริมผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แม้เผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 หรือ Inbox Facebook EXIM Bank of Thailand
Go To Lead
|
KBTG-InsureMO พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัย
นางวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman กลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เผยว่า ด้วยไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมุ่งสู่ช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความต้องการผสานบริการทางการเงิน (Embedded Finance) เข้าไปในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในการรับบริการครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มของตน KBTG ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศการเงินดิจิทัลของไทย จึงร่วมมือกับ InsureMO ผู้นำด้าน Insuretech พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่กำลังมองหาช่องทางในการมอบบริการเสริมด้านประกันภัยให้กับลูกค้า และรวมถึงการนำเสนอบริการประกันภัยแบบไร้รอยต่อ
ดร. วูดดี้ โม President & CEO บริษัท InsureMO กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง KBTG และ InsureMO ในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้การเชื่อมต่อบริการประกันภัยในประเทศไทยเติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยแพลตฟอร์ม InsureMO ที่มีบริการ API รองรับทุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยและวงจรธุรกรรม ประกอบเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านโซลูชันเทคโนโลยีทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ Marco Technlogy ภายใต้ KBTG ทาง InsureMO เชื่อว่า Marco Technology จะสามารถดึงศักยภาพของแพลตฟอร์มมาสร้างโซลูชันเพื่อฝังบริการประกันภัยที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจต่าง ๆ ในไทย และความสำเร็จดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งมอบคุณค่ามหาศาลให้แก่พันธมิตร ลูกค้า และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จุดเด่นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัยนี้ คือ เทคโนโลยีประกันภัยชั้นนำที่พร้อมใช้งานจาก InsureMO การรองรับการฝังประกัน (Embedded Insurance) ทุกประเภท เช่น ประกันเดินทาง ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น และมีทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Marco Technology ที่พร้อมพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของ InsureMO ให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกฎระเบียบและบริบทของประเทศไทย ธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมนี้จะสามารถเชื่อมต่อระบบประกันภัยได้อย่างรวดเร็วผ่าน API ไม่ต้องพัฒนาระบบใหม่ ลดระยะเวลาในการพัฒนาระบบด้วยตนเอง และสำหรับผู้บริโภค จะได้รับประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ณ จุดที่ต้องการได้ทันที เพิ่มความสะดวกและความคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน หนึ่งในธุรกิจที่กำลังจะเริ่มใช้บริการระบบนี้คือแสนสิริ โดย Marco Technology ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดแอปพลิเคชัน Home Service ของแสนสิริ ให้ลูกบ้านของแสนสิริและ Plus Propertyสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันต่าง ๆ ได้ ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มด้วยประกันเดินทางในไตรมาสที่ 3 นี้ สำหรับเฟสถัดไปจะพิจารณาประกันอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกบ้าน และในอนาคต KBTG มีแผนขยายบริการไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ค้าปลีก eCommerce อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และการเดินทาง โดยตั้งเป้าเชื่อมต่อพันธมิตรกว่า 10 ราย ภายใน 3 ปี
นางวรนุช กล่าวตอนท้ายว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านประกันภัยนี้จะช่วยสนับสนุนระบบนิเวศการเงินในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ KBTG ในการเป็นสุดยอดองค์กรเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแกนนำของนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ Marco Technology ที่ http://www.mct.co.th/ หรือติดต่อ contact@mct.co.th
Go To Lead
|
SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่การเมืองไทย และภาษีนำเข้าของทรัมป์ อาจทำให้บาทอ่อนค่าในบางช่วง
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ แต่แข็งค่าได้จากปัจจัยต่างประเทศที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าส่งออกจึงอาจทยอยขายดอลลาร์ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ SCB FM ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในปลายสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้บาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐได้
นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ Head of Financial Markets Function และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาผันผวนขึ้น โดยมีช่วงที่อ่อนค่าขึ้นแรงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ทั้งเรื่องการปรับ ครม. และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดี บาทยังได้รับปัจจัยหนุนด้านแข็งค่า ทั้งจากอิหร่าน-อิสราเอลตกลงหยุดยิง และสหรัฐฯ-จีนทำข้อตกลงทางการค้าสำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดมองว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทำระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ช่วงที่การเมืองไทยมีประเด็นร้อนแรง (เช่น คลิปเสียงการสนทนาของนายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน) เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนได้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนโลกมาก และทำให้เงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยมากกว่าปัจจัยต่างประเทศอีกด้วย เช่น ในช่วงที่สงครามอิหร่าน-อิสราเอลปะทุรุนแรง กลับพบว่าเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่าไม่มากเท่าช่วงที่มีข่าวการเมืองไทย
ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า มองว่าประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง และแนวโน้มที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อไทย อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นได้ มองกรอบที่ราว 32.50-33.00 โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าอาจทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% เพราะไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกของจีนได้ อีกทั้ง การที่ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีจากญี่ปุ่นถึง 25% ก็สะท้อนว่าไทยมีโอกาสถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเช่นกัน จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก ทั้งนี้ แรงกดดันจากดอลลาร์อ่อนค่าอาจทำให้บาทไม่อ่อนค่ามากนัก จึงเป็นสาเหตุที่ให้กรอบ USDTHB ที่ไม่สูงนัก ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่ลง อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อ กดดันบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐได้
สำหรับในระยะกลางถึงยาวมองว่า บาทอาจแข็งค่าต่อได้ เพราะวัฏจักรเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บาทแข็งค่าในปีนี้ โดยเงินทุนมีแนวโน้มไหลเข้ายุโรปและเอเชีย เพราะนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางเอเชียมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ และการที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินยูโรก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามมุมมองของนักลงทุนโลกต่อมาตรการด้านการคลังในยุโรป และแนวโน้มวัฏจักรการลดดอกเบี้ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ใกล้จบลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรปจะไม่ลดลงมาก จึงหนุนเงินยูโรได้ ดังนั้น ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อได้ ทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทจะยังดำเนินต่อในปีนี้ โดยมองกรอบเงินบาท ณ ปลายปีที่ราว 31.50-32.50
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดมอง กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยตลาดมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่แย่ลงหลังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศ โดยล่าสุดมองว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ลงไปที่ 1.50% และลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งไปที่ 1.25% ช่วงปลายปีนี้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อได้ตามการลดดอกเบี้ยของ กนง. ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่า จาก Premium ที่มาจาก Global yields ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อโลกได้ปรับลดลง หลังสงครามอิสราเอล-อิหร่านจบเร็ว ทำให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาลดลงตามปัจจัยด้านอุปทาน ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสูงต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงลดลงด้วย
Go To Lead
|
เศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม เดือดดาลดั่งงูไฟ การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปีงู ด้วยการเผชิญเรื่องร้อนๆ อย่างเต็มแรง และเสี่ยงเติบโตช้าลงช่วงครึ่งปีหลัง แต่สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดดาลทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
เศรษฐกิจไทยชะงักงัน
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโต 3.1% จากกรณีพิเศษ จึงไม่อยากให้ดีใจมากนัก ทั้งมาจากมาตรการแจกเงินภาครัฐ และการเร่งส่งออกไปสหรัฐก่อนมาตรการภาษี แต่ย่างเข้าไตรมาส 2 เริ่มเห็นความเสี่ยงปะทุเข้ามาจากปัจจัยสงครามการค้า ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเทียบไตรมาสไม่น่าจะขยายตัวเลย แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เทียบปีก่อน น่าจะขยายตัว 2.2% ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันลากยาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 แบบ YoY จะโตเพียง 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ เป็นที่มาของการยืนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.8% เทียบปีก่อนที่ 2.5% แล้วปัจจัยเสี่ยงมาจากไหนบ้าง
แผ่นดินไหวทำการก่อสร้างทรุดลากยาว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวปลายมีนาคมส่งผลกระทบแรงกว่าที่คาด การก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมหยุดชะงักหรือแทบไม่มีโครงการใหม่ออกมาเลยในช่วงไตรมาส 2 และน่าจะลากยาวไปตลอดไตรมาส 3 ทั้งปัญหาความเชื่อมั่นการอยู่อาศัยในตึกสูง ความกังวลด้านความเสี่ยงสินเชื่อ ปัญหาผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง อุปทานส่วนเกินยังล้นตลาด อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น และกำลังซื้อต่างชาติที่เคยเป็นแรงหนุนของตลาดก็หดหายไปตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วย ทั้งนี้ การก่อสร้างภาคเอกชนมีโอกาสหดตัวตลอดทั้งปี กระทบการจ้างงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผู้ประกอบการหั่นราคาเพื่อระบายห้องชุดเพื่อตุนสภาพคล่อง กระทบราคาตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมและคุณภาพสินเชื่อในอนาคต จึงต้องระวังสงครามราคาที่อยู่อาศัย แต่จุดที่เป็นโอกาส คือคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าที่มีทำเลที่ดี ได้แก่ คอนโดมิเนียมใกล้แนวรถไฟฟ้าสายหลัก เช่น สายสีเขียว หรือสีน้ำเงิน หรือคอนโดมิเนียมตามโซนเมืองชั้นในและชั้นกลาง ที่ราคาน่าสนใจ เช่น ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต ก็พอสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ หรือหากลงทุนเพื่ออยู่อาศัยเองก็น่าหาแนวรถไฟฟ้าราคา 3-5 ล้านบาทต่อยูนิต ที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามราคารอบนี้แล้ว ปัญหาในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างน้อยด้วย ส่วนกลุ่มบ้านแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเหมือนกับคอนโดมิเนียม แต่ตลาดเองก็กลับอยู่ในทิศทางที่หดตัวลงไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ที่ชะลอลงลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าอาจจะยังพอไปได้ ด้วยทิศทางของ FDI ที่โมเมนตัมดีต่อเนื่องจากปีก่อนและขยายตัวได้ในไตรมาสแรก นับเป็นความหวังของการก่อสร้างภาคเอกชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่อยู่อาศัย อยู่ในช่วงน่าเป็นห่วงและอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในเร็ววัน
ตลาดรถยนต์ใหม่ยังไร้ทางออก
ยอดขายรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 530,000 คันลดลงจาก 572,675 คันในปีก่อน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดตามปัญหาด้านเครดิตของผู้กู้ ขณะที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นที่ราว 14% ของรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 12% และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยอดขายรถยนต์ประเภทสันดาปหดตัวแรงกว่ารถ EV และต้องติดตามปัญหาสงครามราคารถ EV ว่าจะมีต่อเนื่องปีนี้หรือไม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ยอดขายรถยนต์สันดาปทั่วไปลดลงอีกได้จากการขาดแรงจูงใจเมื่อเทียบรถ EV ขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองอาจเผชิญปัญหายอดขายซบเซา เนื่องจากคนเลือกที่จะใช้รถเก่านานขึ้นหรือเลื่อนการเปลี่ยนรถ ประกอบกับการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสในตลาดรถยนต์มือสองจากการที่คนหันมาซื้อรถยนต์มือสองในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปีแทนการออกรถยนต์ใหม่ ด้วยเหตุผลด้านกำลังซื้อ ตลาดนี้จึงมีโอกาสในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มที่มีเครดิตดีพร้อมกู้เท่าที่จำเป็น สำหรับประเภทรถยนต์มือสองที่มีศักยภาพ คือ รถยนต์นั่ง (Sedan) และรถตู้ (Passenger Van) ในพื้นที่หัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
การท่องเที่ยว พระเอกที่หลบซีน
นักท่องเที่ยวจีนหายไปราว 33% ช่วง 5 เดือนแรก นักท่องเที่ยวมาเลเซียเริ่มลดลง แม้นักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่อาจชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 34.5 ล้านคน ลดลงจาก 35.5 ล้านคน แม้รายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่การท่องเที่ยวไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดตามด้วยพัทยาและเชียงใหม่ เพราะเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน ส่วนโซนภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และสมุย น่าจะยังฟื้นตัวต่อได้ช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวยุโรป การที่รายได้ท่องเที่ยวแทบไม่เติบโต จะกระทบต่อกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งการแข่งขันและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มาตรการท่องเที่ยวเมืองรองทำได้เพียงประคองสถานการณ์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ หากเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้จ่ายน้อย ก็พอจะชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จากจีนที่หายไปได้บ้าง และกลุ่มโรงแรมประเภทสามดาวหรือโรงแรมประเภทประหยัดน่าได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ดีน่าจะมาจากการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว สร้างความปลอดภัยในประเทศ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว พร้อมกับหาเส้นทางบินใหม่ๆ และลดข้อจำกัดด้านวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว
การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที (2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
ทรัมป์ป่วนโลก (อีกครั้ง)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและอีกหลายประเทศรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคม เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐขาดดุลการค้า แม้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะน้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ในเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน ทรัมป์น่าจะยังคงเก็บอัตราภาษีที่ 10% กับชาติที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางสินค้า ขึ้นอยู่กับการต่อรองแลกเปลี่ยนที่แต่ละประเทศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์น่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าบางรายการในอัตรา 10-25% เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในประเทศและลดแรงจูงใจในการนำเข้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์และชิ้นส่วน หรืออาจครอบคลุมถึงกลุ่มเวชภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงหรือจัดเก็บภาษีสูงกว่าคาด อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในฐานะประเทศในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนหรือมีการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะกดดันภาคส่งออกไทยในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ทั้งนี้ ไทยน่าเร่งขยายตลาดการค้าใหม่ กระชับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน และใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้อาเซียนต่อรองกับจีนในการลดการใช้ไทยเป็นทางผ่านของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ โดยที่ไทยไม่ได้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้ามากเท่าที่ควร ดังเห็นได้จากดัชนีภาคการผลิตของไทยต่ำ ฟื้นตัวได้น้อย ต่างกับการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีและการนำเข้าเร่งตัวขึ้นสูงตาม มองต่อไป คาดว่าส่งออกจะเริ่มขยายตัวต่ำช่วงไตรมาส 3 และพลิกไปหดตัวในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้ทั้งปี การส่งออกขยายตัวได้เพียง 3.5%
อิหร่านเอาคืน
ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลและชาติพันธมิตร แม้จะบรรเทาลง แต่หากไฟสงครามปะทุขึ้นอีกก็อาจกดดันให้ราคาน้ำมันผันผวน เกิดเป็นแรงกดดันใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยืดเยื้อและส่งผลให้การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซถูกกระทบจริง ก็อาจเกิดภาวะช็อกด้านอุปทานที่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงอีกระลอก สร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย จะเผชิญทางเลือกที่ยากลำบากระหว่างการคงดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากต้นทุนน้ำมัน กับความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กนง. ตรึงดอกเบี้ยไม่อยู่
นโยบายดอกเบี้ยของไทยอยู่ในภาวะที่ท้าทายอย่างมาก แม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาต่อเนื่อง แต่ กนง. ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลเรื่องการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวและความจำเป็นในการสะสม "ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย" เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการผ่อนคลายนโยบายอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าในเอเชียหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง สำนักวิจัยฯ มองว่า ธปท. ควรพิจารณาน้ำหนักของเศรษฐกิจจริงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงภายนอกกำลังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมและลดอีกครั้งเหลือ 1.25% ในรอบการประชุมธันวาคม
บาทอ่อนสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ
แนวโน้มค่าเงินบาทไตรมาส 3 ยังคงผันผวนท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ แม้ที่ผ่านมาเงินบาทจะอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและตะวันออกกลาง แต่เมื่อดูจากต้นปี 2568 จะพบว่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์สหรัฐจากนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ขณะเดียวกัน เงินบาทได้แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางจังหวะ หากราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไทยเป็นผู้ค้าทองคำ โดยเมื่อราคาทองสูงขึ้น ผู้ค้าทองจะส่งออกมากขึ้นและรับเงินดอลลาร์กลับเข้ามาในระบบ ส่งผลให้เกิดแรงซื้อเงินบาทในตลาดเงินชั่วคราวและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วโดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น คาดว่าไตรมาส 3 เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าได้เล็กน้อยเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลด้านสงครามการค้า ประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีนี้
สรุป เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยไหม
เศรษฐกิจไทยปีงูเผชิญแรงกดรอบด้านเดือดดาลเหมือนงูไฟ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมืองสั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง ในฉากทัศน์นี้ กรณีฐาน (Base case) คาด GDP ปีนี้โตแค่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน และอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติดใน Q3 และ Q4 โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4% กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ ดร.อมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
Go To Lead
|
'ออมสิน' ช่วยรายย่อยปลดล็อก NPLs สินเชื่อ
โครงการรัฐช่วงโควิด เริ่มเฟสแรกทันที 2 แสนบัญชี
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินจัดทำมาตรการแก้ไขหนี้รายย่อยในโครงการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยประชาชนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักประกัน ที่มีสถานะหนี้เสีย (NPLs) จำนวนรวมกว่า 500,000 บัญชี ให้สามารถหลุดพ้นจากประวัติหนี้เสีย โดยธนาคารจะดำเนินการทันทีเพื่อที่ในอนาคตลูกหนี้จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ
ในระบบได้เร็วขึ้นเมื่อมีความจำเป็น โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการปิดบัญชีหนี้ ตัดหนี้สูญ และไม่ติดตามหนี้ ของลูกหนี้ NPLs จำนวนกว่า 200,000 บัญชี ในโครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐที่ได้รับงบประมาณชดเชยแล้ว ระยะที่ 2 ธนาคารจะทยอยดำเนินการปิดบัญชีหนี้แก่ลูกหนี้ NPLs โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 จำนวนกว่า 300,000 บัญชี ให้แล้วเสร็จ
ภายในสิ้นปี 2568
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับมาตรการปลดหนี้สินเชื่อตามโครงการของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเป็นจำนวนกว่า 1.3 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 11,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อย และช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางให้สามารถประคับประคองสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวให้เดินต่อได้ มุ่งเน้นดำเนินการเพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียวินัยทางการเงิน และยังสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อีกในอนาคต
Go To Lead
|
[ENGLISH]
|