Editorial/Article
Hot News: ประกัน แข่งดุ 'กรมธรรม์' ส่งมอบทรัพย์สินทายาท
http://www.tviclick.com
Home Page iClick News.com
Home
Print this webpage
Print
English Version
English

บทบรรณาธิการ
ประกัน แข่งดุ 'กรมธรรม์' ส่งมอบทรัพย์สินทายาท
ในภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว สงครามเกิดขึ้นหลายประเทศ และประเทศไทยก็ยังมีปัญหาชายแดนกับประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง คงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวรับมือกับสภาวะเหตุการณ์ที่ผันแปรตลอดเวลาในปีนี้และปีหน้าอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจส่งออก ท่องเที่ยวและเกษตรกรรม โดนผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าหรือ Tariff ของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น
สำหรับธุรกิจอาหาร สุขภาพ การเงิน และประกัน ยังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบัน
เมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับมนุษย์ ธุรกิจประกันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการบริหารจัดการชีวิตและครอบครัวให้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มคนมีเงิน
ประกันวันนี้ จึงมีการแข่งขันกันลอนช์กรมธรรม์ที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือก อย่างล่าสุดค่ายบิ๊ก ทั้งเมืองไทยประกันชีวิต mtl และพรูเด็นเชียล Pruedential ได้ลอนช์กรมธรรม์ส่งมอบทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น ให้ทายาทในครอบครัว
ตลาดตรงนี้ยังมีช่องว่าง และเป็นความต้องการของกลุ่มคนมีเงิน จึงไม่แปลกที่ประกันหลายแบรนด์ บุกตลาดประเภทนี้มากขึ้น เพราะว่ากลุ่มคนมั่งคั่ง เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในขณะนี้
เพียงแต่ว่า ผู้บริโภคก็ต้องเลือกกรมธรรม์ให้เหมาะสมและคุ้มค่าให้ตัวเอง รวมทั้งครอบครัวมากที่สุด ในยุคที่อะไรก็ไม่แน่นอนในชีวิต...

editorial@iclicknews.com


บทความวิชาการ
จรรยาบรรณการสื่อสารในภาวะวิกฤต “แผ่นดินไหว”
จากเมียนมา สะเทือนถึงประเทศไทย "เขย่า" ตึกสตง.ถล่ม

อ. กฤติกา นพรัตน์

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจดจารึก กรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียน แรงสั่นสะเทือนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 320 กิโลเมตร แรงสะเทือนแผ่นดินไหวจากเมียนมากระทบถึงประเทศไทยหลายพื้นที่รวม 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อมาได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง
สาเหตุแผ่นดินไหวเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีความยาวประมาณ 1,200 กม. วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศเมียนมา
ในช่วงบ่ายกว่าประมาณ 13.30 น. ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ประชาชน คนทำงาน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่ทำงานบนอาคารสูง คอนโดมิเนียมสูง โรงแรม โรงพยาบาล และอาคารบ้านเรือน ต่างตระหนกตกใจวิ่งลงมาจากอาคารสูง บ้าน โรงแรม โรงพยาบาล มีการอพยพคนป่วยอย่างเร่งด่วน
"มีตึกถล่ม" นั่นคือ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ที่กำลังก่อสร้างตรงเขตจตุจักร อาคาร 30 ชั้น ถล่มลงมาในพริบตาเดียว
ช่วงเวลาดังกล่าว คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ต่อมาสื่อสังคม Line,TikTok,Facebook,twitter และอื่นๆ ได้มีผู้คนส่งข่าว ส่งภาพและคลิปวิดีโอ Clip Video มาว่า เกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมา ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย
สำหรับคนที่กำลังขับรถบนถนน ได้รับรู้ข่าวสารทันเหตุการณ์จากคลื่น สวพ. 91 ที่รายงานข่าวการจราจรบนถนนตลอดเส้นทาง "ถนนย่านพระรามสอง ถนนพระราม 2 ขาเข้า ทรุดตัวเป็นลูกคลื่น เหตุเกิดบริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลบางมด ในช่องทางหลัก ขณะนี้ปิดการจราจร ทำให้ถนนพระราม 2 ขาเข้าจรจาจรติดขัดมาก"
นอกจากนี้ มีเศษปูนร่วงจากทางยกระดับกำลังก่อสร้าง บริเวณขาเข้าช่วงกลับรถหน้า สน.บางมด โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง
เวลา 14.20 น. นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ? ประชุมด่วนเพื่อติดตามผลกระทบแผ่นดินไหว บินกลับมาจากจังหวัดภูเก็ต และในเวลาต่อมาได้ประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นเขตพื้นที่ฉุกเฉินหลังเกิดแผ่นดินไหว-ตึกถล่ม พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือประชาชน ตั้งรับ
เวลา 15.00 น. เพจ วันนี้รถไฟฟ้าเป็นอะไร แจ้งข้อมูลรถเมล์จากเพจเพื่อนบ้าน เส้นทางรถเมล์ ระหว่างรถไฟฟ้ายังงดให้บริการชั่วคราว หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกทม. ประชาชนสามารถใช้เส้นทางทดแทนได้ เวลา 16.00 น. "ภูมิธรรม" ลงพื้นที่ตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว วางแผนเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมสั่งเหล่าทัพระดมกำลังช่วยเหลือประชาชน เตรียมพร้อม รพ.ทหาร รับคนบาดเจ็บ เวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อาคารกำลังก่อสร้างถล่ม บริเวณจตุจักร ขอให้ระดมทุกฝ่ายร่วมช่วยเหลือผู้ติดอยู่ภายในซากอาคาร อย่างเต็มที่
เวลา 19.00 น."เมียนมา" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหตุแผ่นดินไหว พบเสียหายวงกว้าง พร้อมขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ขณะที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งยังไม่ได้รับรายงานคนไทยบาดเจ็บ-เสียชีวิต เวลา 20.00 หนังสือพิมพ์รายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิต เหตุอาคารถล่ม เขตจตุจักร ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 68 คน เสียชีวิต 3 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือคนติดใต้อาคาร นำสุนัข K9 ช่วยดมกลิ่น
จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทุกสื่อ ทั้งสื่อดั้งเดิม สื่อออนไลน์ สื่อสังคม Social Media และสื่อดิจิทัล แข่งกันรายงานว่าแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางที่เมืองมัณฑเลย์ เมียนมา ความแรง 8.2 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ และเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน ผลกระทบจะรุนแรงถึงสอง-สามเท่า
แคทซ์และคณะ (katz, 1974) ชี้ให้เห็นว่าสื่อจะไม่มีอิทธิพลต่อบุคคลที่ไม่เลือกใช้สื่ออย่างแน่นอน และการเลือกใช้สื่อนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุทางจิตวิทยา และความต้องการทางสังคมของแต่ละบุคคลนั้นๆ
พฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing Behavior)หมายถึง การแบ่งปันความรู้ ที่บุคคลหนึ่งมีจากประสบการณ์ที่บุคคลนั้นได้สะสมมาหรือความรู้ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับการถ่ายทอดมา จากผู้อื่นนำข้อมูลหรือทัศนคติที่มีส่งต่อไปให้แก่ผู้ที่ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลดังกล่าว (Oliveira, Curado & Nodari, 2015)
ปริญญา หอมเอนก กล่าวว่า "เมื่อผู้รับสารได้รับข้อมูลข่าวสาร พร้อมๆกันบนสื่อ Social Media ทุกแพลตฟอร์ม จะเกิดปรากฎการณ์ Echo Chamber Effect เสียงสะท้อนในห้องที่มองไม่เห็น ทำให้ผู้ใช้งาน Social Media รับรู้ข้อมูลด้านเดียว Half-Truth เมื่อได้รับข้อมูลซ้ำๆระยะนานๆ ข้อมูลเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้รับสารให้คล้อยตาม"
ดร พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรทัศน์ตามประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยภัยพิบัติที่มีอยู่ และพัฒนาแนวทางเพิ่มเติมโดยบูรณาการช่องทางสื่อสารผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัล สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning System: EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เป็นระบบที่สามารถกระจายข้อมูลภาพและเสียงได้ในพื้นที่วงกว้าง โดยสามารถแจ้งเตือนทั่วทั้งประเทศพร้อมกันหรือเลือกสื่อสารเฉพาะพื้นที่ได้ตามลักษณะพื้นที่ครอบคลุมซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ทันทีขณะที่รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ได้มีการติดต่อประสานงานมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อทดลองทดสอบและพัฒนาระบบดังกล่าว และ กสทช. ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปลายปี 2567 โดย ททบ.5 ได้มีการทดลองทดสอบเบื้องต้นในระบบปิดซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี จากการสำรวจทางเทคนิคในเบื้องต้น MUX ที่มีความพร้อมและสามารถทดลองทดสอบในระบบเปิดได้เลยคือโครงข่ายของ ททบ.5 และไทยพีบีเอส ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนการรับชมประมาณ 88% ของผู้รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ฯ ผู้ให้บริการช่องรายการโทรทัศน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องทำความเข้าใจและประสานงานกันในอีกหลายประเด็น จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้น เมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา
การผลักดันระบบ EWS สอดคล้องกับนโยบายและแผนการดำเนินงานที่สำคัญของ กสทช. ประจำปี 2568-2569 ที่ระบุถึงการส่งเสริมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการออกแบบสำหรับทุกคน (inclusive design) และบูรณาการการแจ้งเหตุฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีเป้าหมายการให้บริการการเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล การสนับสนุนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcasting System Mobile Alert System) รวมทั้งติดตามการดำเนินการในการจัดทำระบบเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กสทช. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) เป็นผู้รวบรวม ตรวจสอบข้อมูล และกำหนดข้อความและเนื้อหาในการเผยแพร่ โดยมีกระทรวงดิจิทัลฯ รับหน้าที่เชื่อมต่อระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อ CBE กับศูนย์ Cell Broadcast Center (CBC) โดยในการเผยแพร่ข้อความ กรมป้องกันฯ จะใช้มาตรฐานกลางของข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างระบบที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ (Common Alert Protocol: CAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) รองรับได้ทุกช่องทางการสื่อสาร ทุกประเภทของภัยพิบัติ
ส่วนช่องโทรทัศน์ภัยพิบัตินั้น เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 บอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบอนุญาตให้ ทรท. ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบตามโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หมายเลข 1 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน โดยอนุญาตสำหรับการทดลองหรือทดสอบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. รวมถึงได้มีการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีภารกิจหน้าที่ด้านภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานของ ทรท. รูปแบบการนำเสนอเนื้อหารายการ และการติดตามและประเมินผลการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านเนื้อหาในการสื่อสารด้านภัยพิบัติ และการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติหลายหน่วยงานยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ที่ประชุมเห็นประโยชน์ของการมีช่องทางเฉพาะที่เชื่อถือได้ในการสื่อสารภัยพิบัติในระดับสาธารณะ จึงเห็นว่าควรแสวงหาแนวทางปรึกษาหารือกับ ปภ. และหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายในแต่ละประเภทภัยพิบัติต่อไป
“อยากให้มองไปข้างหน้าและพยายามหาทางทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างบูรณาการกันมากที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสจากการขาดระบบสื่อสารภัยพิบัติที่แม้จะมีหลายแพลตฟอร์ม แต่ก็มีการออกแบบให้เหมาะสมกับประเภทของภัยที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”ด.ร.พิรงรอง กล่าว
การหมิ่นประมาท การละเมิดผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายนั้น ก่อเกิดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโลกแห่งการสื่อสารได้เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เนื้อหา ภาพ คลิป วิดิโอ จากสื่อเก่าได้ถูกนำเสนอในสื่อใหม่ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมากมายในวงการสื่อ
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้
โดยรายละเอียดการแก้ไขในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่
หนึ่ง การเพิ่มคำว่า “ที่บิดเบือน” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าสู่ระบบอันเป็นความผิด
สอง การเพิ่มคำว่า “โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง” เข้ามาเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (1) ด้วย ซึ่งคำว่า "โดยทุจริต" มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
สาม การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป “เป็นความผิดอันยอมความได้”
สี่ การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป ให้มีอัตราโทษลดลง คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ห้า การเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” เป็นองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบตามมาตรา 14 (2)
จากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ของ สนช. พบว่า ยังมีช่องโหว่ในการตีความกฎหมายเพื่อใช้ดำเนินคดี ‘เนื้อหา’ บนโลกออนไลน์ได้อยู่ เช่น การเพิ่มคำว่า ‘บิดเบือน’ เข้าไปเป็นองค์ประกอบความผิด ซึ่งการเพิ่มคำนี้เข้ามาแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายจงใจจะให้นำมาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด ทำให้มาตรา 14(1) ถูกเขียนให้ตีความได้กว้างขึ้นมาก ห่างไกลออกไปจากเจตนารมณ์เดิมที่มุ่งเอาผิดกับเพียงหน้าเว็บไซต์ปลอม จนครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นได้หลายรูปแบบ
ในขณะเดียวกัน ในมาตรา 14 (2) มีการเพิ่มคำว่า “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ” จากฉบับเดิมระบุไว้ให้ มาตรา 14(2) เอาผิดการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สองลักษณะ คือ 1) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ 2) น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งก็สามารถตีความเอาผิดกับเนื้อหาบนโลกในออนไลน์ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มนิยามใหม่ที่มีลักษณะตีความได้กว้างก็จะยิ่งทำให้กฎหมายบังคับใช้กับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้กว้างขวางด้วยเช่นกัน และคำว่า ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ยังถือว่าเป็นเรื่องที่พิสูจน์กันได้ยาก และไม่ชัดเจนว่าประชาชนที่ได้รับข้อมูลแล้วตื่นตระหนกตกใจกันแค่ไหน
"ทักษะการรายงานข่าว ทั้งการวิจัย การเขียน เรื่องราวใหม่ ประเด็นเทคโนโลยีและจริยธรรม"จริยธรรมของสื่อวารสารศาสตร์ออนไลน์ สื่อออนไลน์ และสื่อสังคม มีหลักดังนี้ ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้อง แม่นยำและครบถ้วน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะ นำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าว ไม่แสดงความคิดเห็น ต้องละเว้นการนำเสนอข่าว เพราะความลำเอียงหรือมีอคติ
การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากสื่ออื่น หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ ต้องระบุที่มาของข่าว ภาพ หรือคลิป วีดิโอ การนำเสนอข่าวที่มีการพาดพิง อาจเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือองค์กรใดๆ ต้องให้โอกาสฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแสดงถึงข้อเท็จจริง การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ภาพ คลิป วีดิโอ ผิดพลาด ต้องลงแก้ไขข้อผิดพลาดโดยด่วน การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ต้องระบุชื่อ นามสกุล ผู้ให้ข่าว เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว การนำเสนอข่าว หรือภาพ จะต้องไม่ละเมิดศักด์ศรีของความเป็นมนุษย์ เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส และต้องไม่นำเสนอภาพข่าว คลิป วีดิโอ ที่ดูอุจาด ลามกอนาจาร หรือหวาดเสียว
ดังนั้น การรายงานข่าว การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤต "ภัยพิบัติแห่งชาติ" สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม ไม่แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ในการรายงานข่าการถ่ายคลิป วิดีโอ Clip Vedio หรือถ่ายทอดสดแบบสตรีมมิ่ง LIVE ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม Social Responsibility นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร และประชาชนมากที่สุด
..................
เอกสารอ้างอิง
การกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อใหม่ (โครงการศึกษาวิจัยการปฎิรูปสื่อ เล่มที่ 5). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.
พจนานุกรม ศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา สำนักพิมพ์ ธนาเพรส จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 1.พ.ศ.2566
พิรงรอง รามสูต. (2557). การกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต.กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ดรุณี หิรัญรักษ์. (2558) จริยธรรมสื่อ (Media Ethics) กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์
The Cyber Mindset ฉลาดใช้ชีวิตติดดิจิทัล. ปริญญา หอมอเนก. สำนักพิมพ์ บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กุมภาพันธ์ 2566
www.tja.or.th สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
www.thaibja.org สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
www.presscouncil.or.th สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
www.lawyercouncil.or.th สภาทนายความแห่งประเทศไทย
www.infoquest.co.th/2025/486373

iclickgroup@iclick.co.th


[ENGLISH] 
พันธมิตรสึ่อ

Online NewsTime       The Nice Brand.com

  --  
iClickNews.com