Finance/share
Hot News: EXIM เสริมสภาพ
คล่อง กว่า 10,000 ล้าน
http://www.tviclick.com
Home Page iClick News.com
Home
Print this webpage
Print
English Version
English
EXIM เสริมสภาพ
คล่อง กว่า 10,000 ล้าน
EXIM BANK เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการไทย วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก มาตรการระยะสั้น วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินสูงสุด 365 วัน
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาคการส่งออกไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดจนสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้อิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อผู้ประกอบการไทย อาทิ การลดลงของคำสั่งซื้อ การล่าช้าในการส่งมอบสินค้า และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
ในการบรรเทาผลกระทบและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง EXIM BANK ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยครอบคลุมการเติมทุน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดต้นทุนทางการเงิน ด้วยกรอบวงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
มาตรการระยะสั้น วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินสูงสุด 365 วัน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสูงสุด 20% จากอัตราเดิม มาตรการระยะกลางและระยะยาว วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท จะประกาศใช้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
• วงเงิน 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม ด้วยสินเชื่อเพื่อการร่วมงานแสดงสินค้า โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสินเชื่อเพื่อการส่งออก อัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมความคุ้มครองความเสี่ยงกรณีผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี (Prime Rate -2.16% ต่อปี) พิเศษสำหรับผู้ถือกรมธรรม์ประกันการส่งออกกับ EXIM BANK ยกเว้นค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อสูงสุด 5 รายต่อกรมธรรม์
• วงเงิน 1,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% ต่อปีใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 3-10 ปี • วงเงิน 3,000 ล้านบาท สนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถรักษาการจ้างงานได้ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.00% ต่อปีคงที่ 3 ปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs) ของ EXIM BANK ในปัจจุบันเท่ากับ 6.15% ต่อปี
นอกจากนี้ EXIM Export Clinic ที่ EXIM BANK ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ ดำเนินการติดต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้คำปรึกษาและนำเสนอมาตรการระยะสั้นไปแล้ว และพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกที่ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ สาขาทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ และสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ 4 แห่งใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือ เยียวยา และส่งเสริมผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แม้เผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 หรือ Inbox Facebook “EXIM Bank of Thailand”

Go To Lead


KBTG-InsureMO
พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัย
นางวรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman กลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เผยว่า ด้วยไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมุ่งสู่ช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความต้องการผสานบริการทางการเงิน (Embedded Finance) เข้าไปในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในการรับบริการครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มของตน KBTG ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศการเงินดิจิทัลของไทย จึงร่วมมือกับ InsureMO ผู้นำด้าน Insuretech พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่กำลังมองหาช่องทางในการมอบบริการเสริมด้านประกันภัยให้กับลูกค้า และรวมถึงการนำเสนอบริการประกันภัยแบบไร้รอยต่อ
ดร. วูดดี้ โม President & CEO บริษัท InsureMO กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง KBTG และ InsureMO ในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้การเชื่อมต่อบริการประกันภัยในประเทศไทยเติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยแพลตฟอร์ม InsureMO ที่มีบริการ API รองรับทุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยและวงจรธุรกรรม ประกอบเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านโซลูชันเทคโนโลยีทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ Marco Technlogy ภายใต้ KBTG ทาง InsureMO เชื่อว่า Marco Technology จะสามารถดึงศักยภาพของแพลตฟอร์มมาสร้างโซลูชันเพื่อฝังบริการประกันภัยที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจต่าง ๆ ในไทย และความสำเร็จดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งมอบคุณค่ามหาศาลให้แก่พันธมิตร ลูกค้า และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จุดเด่นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมระบบนิเวศประกันภัยนี้ คือ เทคโนโลยีประกันภัยชั้นนำที่พร้อมใช้งานจาก InsureMO การรองรับการฝังประกัน (Embedded Insurance) ทุกประเภท เช่น ประกันเดินทาง ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น และมีทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Marco Technology ที่พร้อมพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของ InsureMO ให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกฎระเบียบและบริบทของประเทศไทย ธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมนี้จะสามารถเชื่อมต่อระบบประกันภัยได้อย่างรวดเร็วผ่าน API ไม่ต้องพัฒนาระบบใหม่ ลดระยะเวลาในการพัฒนาระบบด้วยตนเอง และสำหรับผู้บริโภค จะได้รับประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ณ จุดที่ต้องการได้ทันที เพิ่มความสะดวกและความคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน หนึ่งในธุรกิจที่กำลังจะเริ่มใช้บริการระบบนี้คือแสนสิริ โดย Marco Technology ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดแอปพลิเคชัน Home Service ของแสนสิริ ให้ลูกบ้านของแสนสิริและ Plus Propertyสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันต่าง ๆ ได้ ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มด้วยประกันเดินทางในไตรมาสที่ 3 นี้ สำหรับเฟสถัดไปจะพิจารณาประกันอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกบ้าน และในอนาคต KBTG มีแผนขยายบริการไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ค้าปลีก eCommerce อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และการเดินทาง โดยตั้งเป้าเชื่อมต่อพันธมิตรกว่า 10 ราย ภายใน 3 ปี
นางวรนุช กล่าวตอนท้ายว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านประกันภัยนี้จะช่วยสนับสนุนระบบนิเวศการเงินในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ KBTG ในการเป็นสุดยอดองค์กรเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแกนนำของนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ Marco Technology ที่ http://www.mct.co.th/ หรือติดต่อ contact@mct.co.th

Go To Lead


SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า
แต่การเมืองไทย และภาษีนำเข้าของทรัมป์ อาจทำให้บาทอ่อนค่าในบางช่วง
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ แต่แข็งค่าได้จากปัจจัยต่างประเทศที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าส่งออกจึงอาจทยอยขายดอลลาร์ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ SCB FM ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในปลายสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้บาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐได้
นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ Head of Financial Markets Function และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาผันผวนขึ้น โดยมีช่วงที่อ่อนค่าขึ้นแรงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ทั้งเรื่องการปรับ ครม. และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดี บาทยังได้รับปัจจัยหนุนด้านแข็งค่า ทั้งจากอิหร่าน-อิสราเอลตกลงหยุดยิง และสหรัฐฯ-จีนทำข้อตกลงทางการค้าสำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดมองว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทำระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ช่วงที่การเมืองไทยมีประเด็นร้อนแรง (เช่น คลิปเสียงการสนทนาของนายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน) เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนได้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนโลกมาก และทำให้เงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยมากกว่าปัจจัยต่างประเทศอีกด้วย เช่น ในช่วงที่สงครามอิหร่าน-อิสราเอลปะทุรุนแรง กลับพบว่าเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่าไม่มากเท่าช่วงที่มีข่าวการเมืองไทย
ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า มองว่าประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง และแนวโน้มที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อไทย อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นได้ มองกรอบที่ราว 32.50-33.00 โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าอาจทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% เพราะไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกของจีนได้ อีกทั้ง การที่ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีจากญี่ปุ่นถึง 25% ก็สะท้อนว่าไทยมีโอกาสถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเช่นกัน จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก ทั้งนี้ แรงกดดันจากดอลลาร์อ่อนค่าอาจทำให้บาทไม่อ่อนค่ามากนัก จึงเป็นสาเหตุที่ให้กรอบ USDTHB ที่ไม่สูงนัก ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่ลง อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อ กดดันบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐได้
สำหรับในระยะกลางถึงยาวมองว่า บาทอาจแข็งค่าต่อได้ เพราะวัฏจักรเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บาทแข็งค่าในปีนี้ โดยเงินทุนมีแนวโน้มไหลเข้ายุโรปและเอเชีย เพราะนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางเอเชียมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ และการที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินยูโรก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามมุมมองของนักลงทุนโลกต่อมาตรการด้านการคลังในยุโรป และแนวโน้มวัฏจักรการลดดอกเบี้ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ใกล้จบลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรปจะไม่ลดลงมาก จึงหนุนเงินยูโรได้ ดังนั้น ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อได้ ทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทจะยังดำเนินต่อในปีนี้ โดยมองกรอบเงินบาท ณ ปลายปีที่ราว 31.50-32.50
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดมอง กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยตลาดมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่แย่ลงหลังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศ โดยล่าสุดมองว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ลงไปที่ 1.50% และลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งไปที่ 1.25% ช่วงปลายปีนี้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อได้ตามการลดดอกเบี้ยของ กนง. ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่า จาก Premium ที่มาจาก Global yields ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อโลกได้ปรับลดลง หลังสงครามอิสราเอล-อิหร่านจบเร็ว ทำให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาลดลงตามปัจจัยด้านอุปทาน ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสูงต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงลดลงด้วย

Go To Lead


เศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม เดือดดาลดั่งงูไฟ
การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปีงู ด้วยการเผชิญเรื่องร้อนๆ อย่างเต็มแรง และเสี่ยงเติบโตช้าลงช่วงครึ่งปีหลัง แต่สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดดาลทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
เศรษฐกิจไทยชะงักงัน เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโต 3.1% จากกรณีพิเศษ จึงไม่อยากให้ดีใจมากนัก ทั้งมาจากมาตรการแจกเงินภาครัฐ และการเร่งส่งออกไปสหรัฐก่อนมาตรการภาษี แต่ย่างเข้าไตรมาส 2 เริ่มเห็นความเสี่ยงปะทุเข้ามาจากปัจจัยสงครามการค้า ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเทียบไตรมาสไม่น่าจะขยายตัวเลย แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เทียบปีก่อน น่าจะขยายตัว 2.2% ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันลากยาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 แบบ YoY จะโตเพียง 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ เป็นที่มาของการยืนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.8% เทียบปีก่อนที่ 2.5% แล้วปัจจัยเสี่ยงมาจากไหนบ้าง
แผ่นดินไหวทำการก่อสร้างทรุดลากยาว เหตุการณ์แผ่นดินไหวปลายมีนาคมส่งผลกระทบแรงกว่าที่คาด การก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมหยุดชะงักหรือแทบไม่มีโครงการใหม่ออกมาเลยในช่วงไตรมาส 2 และน่าจะลากยาวไปตลอดไตรมาส 3 ทั้งปัญหาความเชื่อมั่นการอยู่อาศัยในตึกสูง ความกังวลด้านความเสี่ยงสินเชื่อ ปัญหาผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง อุปทานส่วนเกินยังล้นตลาด อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น และกำลังซื้อต่างชาติที่เคยเป็นแรงหนุนของตลาดก็หดหายไปตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วย ทั้งนี้ การก่อสร้างภาคเอกชนมีโอกาสหดตัวตลอดทั้งปี กระทบการจ้างงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผู้ประกอบการหั่นราคาเพื่อระบายห้องชุดเพื่อตุนสภาพคล่อง กระทบราคาตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมและคุณภาพสินเชื่อในอนาคต จึงต้องระวังสงครามราคาที่อยู่อาศัย แต่จุดที่เป็นโอกาส คือคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าที่มีทำเลที่ดี ได้แก่ คอนโดมิเนียมใกล้แนวรถไฟฟ้าสายหลัก เช่น สายสีเขียว หรือสีน้ำเงิน หรือคอนโดมิเนียมตามโซนเมืองชั้นในและชั้นกลาง ที่ราคาน่าสนใจ เช่น ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต ก็พอสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ หรือหากลงทุนเพื่ออยู่อาศัยเองก็น่าหาแนวรถไฟฟ้าราคา 3-5 ล้านบาทต่อยูนิต ที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามราคารอบนี้แล้ว ปัญหาในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างน้อยด้วย ส่วนกลุ่มบ้านแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเหมือนกับคอนโดมิเนียม แต่ตลาดเองก็กลับอยู่ในทิศทางที่หดตัวลงไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ที่ชะลอลงลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าอาจจะยังพอไปได้ ด้วยทิศทางของ FDI ที่โมเมนตัมดีต่อเนื่องจากปีก่อนและขยายตัวได้ในไตรมาสแรก นับเป็นความหวังของการก่อสร้างภาคเอกชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่อยู่อาศัย อยู่ในช่วงน่าเป็นห่วงและอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในเร็ววัน
ตลาดรถยนต์ใหม่ยังไร้ทางออก ยอดขายรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 530,000 คันลดลงจาก 572,675 คันในปีก่อน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดตามปัญหาด้านเครดิตของผู้กู้ ขณะที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นที่ราว 14% ของรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 12% และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยอดขายรถยนต์ประเภทสันดาปหดตัวแรงกว่ารถ EV และต้องติดตามปัญหาสงครามราคารถ EV ว่าจะมีต่อเนื่องปีนี้หรือไม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ยอดขายรถยนต์สันดาปทั่วไปลดลงอีกได้จากการขาดแรงจูงใจเมื่อเทียบรถ EV ขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองอาจเผชิญปัญหายอดขายซบเซา เนื่องจากคนเลือกที่จะใช้รถเก่านานขึ้นหรือเลื่อนการเปลี่ยนรถ ประกอบกับการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสในตลาดรถยนต์มือสองจากการที่คนหันมาซื้อรถยนต์มือสองในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปีแทนการออกรถยนต์ใหม่ ด้วยเหตุผลด้านกำลังซื้อ ตลาดนี้จึงมีโอกาสในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มที่มีเครดิตดีพร้อมกู้เท่าที่จำเป็น สำหรับประเภทรถยนต์มือสองที่มีศักยภาพ คือ รถยนต์นั่ง (Sedan) และรถตู้ (Passenger Van) ในพื้นที่หัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
การท่องเที่ยว – พระเอกที่หลบซีน นักท่องเที่ยวจีนหายไปราว 33% ช่วง 5 เดือนแรก นักท่องเที่ยวมาเลเซียเริ่มลดลง แม้นักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่อาจชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 34.5 ล้านคน ลดลงจาก 35.5 ล้านคน แม้รายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่การท่องเที่ยวไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดตามด้วยพัทยาและเชียงใหม่ เพราะเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน ส่วนโซนภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และสมุย น่าจะยังฟื้นตัวต่อได้ช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวยุโรป การที่รายได้ท่องเที่ยวแทบไม่เติบโต จะกระทบต่อกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งการแข่งขันและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มาตรการท่องเที่ยวเมืองรองทำได้เพียงประคองสถานการณ์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ หากเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้จ่ายน้อย ก็พอจะชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จากจีนที่หายไปได้บ้าง และกลุ่มโรงแรมประเภทสามดาวหรือโรงแรมประเภทประหยัดน่าได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ดีน่าจะมาจากการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว สร้างความปลอดภัยในประเทศ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว พร้อมกับหาเส้นทางบินใหม่ๆ และลดข้อจำกัดด้านวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว
การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที (2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
ทรัมป์ป่วนโลก (อีกครั้ง) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและอีกหลายประเทศรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคม เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐขาดดุลการค้า แม้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะน้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ในเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน ทรัมป์น่าจะยังคงเก็บอัตราภาษีที่ 10% กับชาติที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางสินค้า ขึ้นอยู่กับการต่อรองแลกเปลี่ยนที่แต่ละประเทศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์น่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าบางรายการในอัตรา 10-25% เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในประเทศและลดแรงจูงใจในการนำเข้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์และชิ้นส่วน หรืออาจครอบคลุมถึงกลุ่มเวชภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงหรือจัดเก็บภาษีสูงกว่าคาด อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในฐานะประเทศในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนหรือมีการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะกดดันภาคส่งออกไทยในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ทั้งนี้ ไทยน่าเร่งขยายตลาดการค้าใหม่ กระชับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน และใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้อาเซียนต่อรองกับจีนในการลดการใช้ไทยเป็นทางผ่านของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ โดยที่ไทยไม่ได้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้ามากเท่าที่ควร ดังเห็นได้จากดัชนีภาคการผลิตของไทยต่ำ ฟื้นตัวได้น้อย ต่างกับการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีและการนำเข้าเร่งตัวขึ้นสูงตาม มองต่อไป คาดว่าส่งออกจะเริ่มขยายตัวต่ำช่วงไตรมาส 3 และพลิกไปหดตัวในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้ทั้งปี การส่งออกขยายตัวได้เพียง 3.5%
อิหร่านเอาคืน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลและชาติพันธมิตร แม้จะบรรเทาลง แต่หากไฟสงครามปะทุขึ้นอีกก็อาจกดดันให้ราคาน้ำมันผันผวน เกิดเป็นแรงกดดันใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยืดเยื้อและส่งผลให้การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซถูกกระทบจริง ก็อาจเกิดภาวะช็อกด้านอุปทานที่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงอีกระลอก สร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย จะเผชิญทางเลือกที่ยากลำบากระหว่างการคงดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากต้นทุนน้ำมัน กับความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กนง. ตรึงดอกเบี้ยไม่อยู่ นโยบายดอกเบี้ยของไทยอยู่ในภาวะที่ท้าทายอย่างมาก แม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาต่อเนื่อง แต่ กนง. ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลเรื่องการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวและความจำเป็นในการสะสม "ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย" เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการผ่อนคลายนโยบายอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าในเอเชียหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง สำนักวิจัยฯ มองว่า ธปท. ควรพิจารณาน้ำหนักของเศรษฐกิจจริงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงภายนอกกำลังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมและลดอีกครั้งเหลือ 1.25% ในรอบการประชุมธันวาคม
บาทอ่อนสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ แนวโน้มค่าเงินบาทไตรมาส 3 ยังคงผันผวนท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ แม้ที่ผ่านมาเงินบาทจะอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและตะวันออกกลาง แต่เมื่อดูจากต้นปี 2568 จะพบว่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์สหรัฐจากนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ขณะเดียวกัน เงินบาทได้แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางจังหวะ หากราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไทยเป็นผู้ค้าทองคำ โดยเมื่อราคาทองสูงขึ้น ผู้ค้าทองจะส่งออกมากขึ้นและรับเงินดอลลาร์กลับเข้ามาในระบบ ส่งผลให้เกิดแรงซื้อเงินบาทในตลาดเงินชั่วคราวและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วโดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น คาดว่าไตรมาส 3 เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าได้เล็กน้อยเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลด้านสงครามการค้า ประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีนี้
สรุป – เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยไหม เศรษฐกิจไทยปีงูเผชิญแรงกดรอบด้านเดือดดาลเหมือนงูไฟ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมืองสั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง ในฉากทัศน์นี้ กรณีฐาน (Base case) คาด GDP ปีนี้โตแค่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน และอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติดใน Q3 และ Q4 โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4% กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
“ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ” ดร.อมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

Go To Lead


'ออมสิน' ช่วยรายย่อยปลดล็อก NPLs สินเชื่อ
โครงการรัฐช่วงโควิด เริ่มเฟสแรกทันที 2 แสนบัญชี
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินจัดทำมาตรการแก้ไขหนี้รายย่อยในโครงการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยประชาชนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักประกัน ที่มีสถานะหนี้เสีย (NPLs) จำนวนรวมกว่า 500,000 บัญชี ให้สามารถหลุดพ้นจากประวัติหนี้เสีย โดยธนาคารจะดำเนินการทันทีเพื่อที่ในอนาคตลูกหนี้จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ ในระบบได้เร็วขึ้นเมื่อมีความจำเป็น โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการปิดบัญชีหนี้ ตัดหนี้สูญ และไม่ติดตามหนี้ ของลูกหนี้ NPLs จำนวนกว่า 200,000 บัญชี ในโครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐที่ได้รับงบประมาณชดเชยแล้ว ระยะที่ 2 ธนาคารจะทยอยดำเนินการปิดบัญชีหนี้แก่ลูกหนี้ NPLs โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 จำนวนกว่า 300,000 บัญชี ให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับมาตรการปลดหนี้สินเชื่อตามโครงการของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเป็นจำนวนกว่า 1.3 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 11,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อย และช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางให้สามารถประคับประคองสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวให้เดินต่อได้ มุ่งเน้นดำเนินการเพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียวินัยทางการเงิน และยังสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อีกในอนาคต

Go To Lead


[ENGLISH] 
  --  
iClickNews.com